ศูนย์สามวัย ร้องตองน่าน คว้าเงินกีฬาเกทบอล กีฬาสาธิตผู้สูงอายุแห่งชาติครั้งที่ 1 “งาช้างดำเกมส์” นักกีฬาเกทบอล บ้านร้องตอง จากศูนย์สามวัย อบต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน คว้าเหรียญเงิน การแข่งขันกีฬาเกทบอล รุ่น อายุ 35-59 ปี กีฬาสาธิตผู้สูงอายุแห่งชาติครั้งที่ 1 “งาช้างดำเกมส์” (พ.ศ.2561) ณ จังหวัดน่าน
สำหรับทีมเกทบอล ที่ลงแข่งขันในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของคนในชุมชนบ้านร้องตอง กีฬาชนิดนี้เข้ามาพร้อมศูนย์สามวัย ซึ่งตั้งที่บ้านร้องตอง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน คนในชุมชนได้รู้จัก แล้วฝึกเล่นกัน ในการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “งาช้างดำเกมส์” ครั้งนี้เลยส่งเข้าแข่งขันเป็นครั้งแรกซึ่งถ้าหากเทียบกับทีมอื่นๆ ที่ไปลงแข่งขันในระดับต่างประเทศมากันเกียบหมดแล้ว แต่ทีมเราอาศัยลูกขยันซ้อม เล่นดีเกินขาด คว้าเหรียญเงินมาให้จังหวัดน่านได้สำเร็จ นายสุทธิพงษ์ ศรีเมือง รองประธานเกทบอลน่าน เลขานายกอบต.ม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน กล่าว
Gate ball (กีฬาเกทบอล) ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1947 ไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนายคาทซึโนบุ ซูชูกิ ซึ่งอาศัยในฮ็อกไกโด ผู้ก่อตั้งต้องการจะให้เด็กมีเกมส์สนุกจาก โครเก็ต ซูชูกิ จึงออกแบบ Gate ball ที่ไม่ใช้อุปกรณ์มาก หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับญี่ปุ่นซึ่งมีที่ดินน้อยและประชากรที่มีมาก ตอนแรกกีฬาได้รับการออกแบบสำหรับเด็ก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มได้มีการยอมรับในหมู่ผู้สูงอายุ และคนหนุ่มสาว ในช่วงปลายยุค 80 กีฬา Gate ball ได้กระจายไปทั่วในญี่ปุ่น
สำหรับ กฏ กติกาในการเล่น กีฬาเกทบอล จากสมาคมกีฬาเกทบอล Thai Gateball Union
วิธีการเล่นเกทบอล
1) จำนวนผู้เล่นแต่ละทีม จะมีจำนวนทั้งสิ้น 5-7 คน
2) ในแต่ละทีมจะมีผู้จัดการ 1 คน
3) ในการแข่งขันจะมีผู้เล่นตัวจริง 5 คน ตัวสำรอง 2 คน
4) ผู้เล่นจำนวนทีมละ 5 คน จะถูกกำหนดโดยผู้ตัดสินให้เป็น 2 ทีม คือ
ทีมสีแดงกับทีมสีขาวโดยติดเบอร์ดังนี้
ทีมสีแดงจะติดเบอร์ 1-3-5-7-9 ทีมสีขาวจะติดเบอร์ 2-4-6-8-10
5) เวลาในการแข่งขันจะใช้เวลา 30 นาที
6) จะต้องยิงประตูให้ผ่านตั้งแต่ประตูที่ 1 , 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งในแต่ละประตูจะมี 1 คะแนน
7) จะต้องยิงประตูชัย (Goal pole) ภายใน 30 นาที จะถือว่าเป็นผู้ชนะในแต่ละคน ซึ่งประตูชัย (Goal pole) จะมี 2 คะแนน
8) ถ้ายิงประตูชัย (Goal pole)ได้แล้ว กรรมการจะขานว่า”อาการิ” (AGARI) และเป็นการสิ้นสุดการเล่นของผู้นั้น
9) ภายใน 30 นาที ถ้าหากทีมใดสามารถทำ ”อาการิ” (AGARI) ได้ทั้ง 5 คนก่อน ทีมนั้นจะเป็นผู้ชนะ
10) ในการคิดคะแนน ถ้าทั้งสองทีมไม่สามารถทำ ’อาการิ’ ได้สำเร็จภายในเวลา 30 นาที ก็จะนำคะแนนที่ได้
ของแต่ละการยิงประตูมารวมกัน ทีมใดได้มากที่สุด ถือว่าเป็นผู้ชนะ
11) ในการเล่น ผู้เล่นทั้งสองทีมจะมีลูกบอลตามเบอร์ของตนเอง จะยืนตีสลับเบอร์กันไปในแต่ละ ประตู
12) ผู้เล่นที่ยิงประตูได้ จะได้สิทธิ์การตีอีก 1 ครั้ง
13) ถ้าผู้เล่นยิงประตูที่ 1 ยังไม่เข้า จะต้องรอการตีตามลำดับหมายเลขตนเองยิงประตูต่อไปเรื่อย ๆ จนเข้าประตู จึงจะเล่นต่อไปได้
14) ถ้ามีผู้เล่นในทีมสามารถยิงโกลโพล (Goal pole) ครบทั้ง 5 คนก่อนหมดเวลา30 นาที ถือว่าเป็นทีมที่ชนะ และเสร็จสิ้นการแข่งขัน
การทัช (Touch) และการสปารค์ (Spark)
เมื่อผู้เล่นตีลูกของเขา ให้ไปชนหรือปะทะกับลูกบอลของผู้เล่นคนอื่น ทั้งที่อยู่ในทีมเดียวกันหรือลูกของทีมตรงข้าม
จะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ทัช” (Touch) ในกรณีนี้ ให้หยิบลูกบอลอื่นขึ้นมา แล้วนำไป ณ จุดที่ลูกบอลของเขาหยุดโดยให้ใช้เท้าด้าน
ใดด้านหนึ่งเหยียบลูกบอลของตนให้สนิทอยู่กับที่และแน่น จากนั้นให้วางลูกบอลของคนอื่นลงโดยให้บอลทั้งสองลูกชิดกัน
แล้วจึงใช้ไม้ตีลูกบอลของเขาเพื่อให้ลูกบอลของคนอื่นเคลื่อนไปยังจุดอื่นหรือไปตามทิศทางที่เขาต้องการได้
เราเรียกการตีลูกชนิดนี้ว่า สปาร์ค (spark) ข้อสำคัญลูกบอลของเขาจะต้องนิ่งอยู่ภายใต้เท้าของเขา ที่กำลังเหยียบอยู่เท้านั้น
และจะต้องกระทำภายในสิบวินาทีหลังจากที่ทัชแล้ว จากนั้นจะสามารถเล่นบอลของเขาต่อไปได้อีกหนึ่งครั้ง
แต่ถ้าลูกบอลของเขาที่เขาตีไปแล้ว ไปปะทะหรือชนกับลูกบอลของคนอื่นได้อีก ก็ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน
แต่ต้องไม่ใช่ลูกเดิมที่เขาเคยทัชแล้วในรอบเดียวกันนี้
สำหรับผลกการแข่งขันกีฬาเกทบอล ประเภท Classic ผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1 “งาช้างดำเกมส์” (2561) ณ โรงเรียนบ้านดอนศรีเสริมกสิกร รุ่นอายุ 60 ปีขึ้นไป ชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์, รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี, รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี และรุ่นอายุ 35 – 59 ปี ชนะเลิศ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช, รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ จังหวัดน่าน, รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้การจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา
กำหนดการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2561 ชนิดกีฬาในการแข่งขันกีฬาผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นกีฬาพื้นฐาน ที่ผู้สูงอายุสามารถเล่นได้อย่างปลอดภัย จำนวน 13 ชนิดกีฬา และ 1 กีฬาสาธิต ได้แก่ กรีฑา, ว่ายน้ำ, กอล์ฟ, เพาะกาย, ฟุตบอล, ลีลาศ, บาสเกตบอล, ตะกร้อ, วู้ดบอล, เทนนิส, แบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส, เปตอง และ เกทบอล (กีฬาสาธิต)
ขอขอบคุณภาพ นายสุทธิพงษ์ ศรีเมือง มานะ ทองใบศรี รายงาน
สนับสนุนข่าวโดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)